Header Image
ข้อมูลทั่วไปจังหวัด
watermark

 

ข้อมูลทั่วไปจังหวัดตรัง

   

จังหวัดตรังตั้งอยู่ทางภาคใต้ด้านฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทย ติดทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย เป็นเมืองท่าสำคัญของภาคใต้ตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ตามลำดับ ดังนี้

1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์

มีหลักฐานทางโบราณคดีปรากฏอยู่ตามถ้ำเขาต่าง ๆ เช่น ขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัด ภาชนะดินเผา หม้อสามขา เครื่องมือเหล็ก ภาพเขียนสี ที่ถ้ำเขาสามบาตร ถ้ำเขาสาย ถ้ำเขาคุรำ ถ้ำเขาปินะ ฯลฯ ซึ่งเป็นเขาลูกโดดริมแม่น้ำตรัง ถ้ำเขาไม้แก้ว ถ้ำเขาเทียมป่า เป็นถ้ำเขาลูกโดดกลางทุ่ง ถ้ำเขาเจ้าไหม ถ้ำเขาแบนะ อยู่ริมทะเล โครงกระดูกมนุษย์โบราณที่ถ้ำวัดภูเขาทอง ถ้ำซาไก ที่ริมเขาบรรทัด เป็นต้น แสดงถึงการอยู่อาศัยของบรรพชนชาวตรังมาไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ปี

2. สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์

เมื่อบรรพชนชาวตรังเริ่มรู้จักปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ออกจากถ้ำมาสร้างที่อยู่อาศัยตามริมเขา ริมสายน้ำ และกลางทุ่ง จนเกิดเป็นชุมชนใหญ่ โดยเฉพาะชุมชนริมแม่น้ำตรังที่เขาคุรำ อำเภอห้วยยอด พบหลักฐานต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงวัตถุที่แสดงความสัมพันธ์กับต่างแดน เช่น ลูกปัดแก้ว พระพิมพ์ดินดิบ ชิ้นส่วนสถูป เฉพาะพระพิมพ์ดินดิบนั้นพบในหลายถ้ำ เช่น ถ้ำเขาสาย ถ้ำคีรีวิหาร ถ้ำเขานุ้ย ซึ่งล้วนอยู่ในบริเวณริมแม่น้ำตรังไม่ไกลจากเขาคุรำ นักโบราณคดีได้คำนวณอายุพระพิมพ์ดินดิบไว้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ ที่สำคัญคือการพบแหล่งโบราณคดีสมัยเดียวกันที่ตำบลนาพละ อำเภอเมืองตรัง บริเวณลุ่มน้ำคลองนางน้อย สาขาของแม่น้ำตรังที่ใช้เป็นเส้นทางไปยังริมเขาบรรทัด เพื่อข้ามไปยังเมืองพัทลุง ประกอบด้วยฐานอาคารศาสนสถาน ชิ้นส่วนสถูป พระอวโลกิเตศวรสำริด ฯลฯ หาค่าอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ เช่นกัน โบราณวัตถุที่พบเหล่านี้แสดงถึงอิทธิพลของพุทธศาสนามหายานและศิลปะร่วมสมัยศรีวิชัย อาณาจักรโบราณทางฝั่งตะวันออกของภาคใต้ ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์เริ่มเข้ามาในภาคใต้ เห็นได้จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงพระธนกุมารและนางเหมชาลาจากอินเดีย อัญเชิญพระบรมธาตุหนีศึกเพื่อจะไปลังกา ได้ขึ้นบกที่หาดทรายแก้วและฝังพระบรมธาตุไว้ ครั้นพระยาศรีธรรมาโศกราชมาพบเข้า จึงสร้างบ้านเมืองขึ้น ณ หาดทรายแก้ว พร้อมทั้งสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ไว้ และได้ครอบครองเมืองต่าง ๆ ในแหลมมลายู เรียกว่าเมือง ๑๒ นักษัตร ตรังเป็นหนึ่งในเมือง ๑๒ นักษัตร มีตราม้าเป็นตราประจำเมือง แสดงว่าในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช ตรังเป็นเมืองในกำกับของนครศรีธรรมราชและสืบเนื่องต่อมาอีกยาวนาน

3. สมัยประวัติศาสตร์

การกำหนดสมัยประวัติศาสตร์ของตรังอิงตามประวัติศาสตร์ไทย คือเริ่มจากสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตามลำดับ ในช่วงหลังได้แบ่งย่อยเพิ่มขึ้นตามเหตุการณ์สำคัญของเมือง ดังนี้

4. สมัยสุโขทัย

เมืองตรังเป็นเส้นทางผ่านของพระพุทธศาสนาเข้าสู่ภาคใต้ ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวว่าพระเจ้าร่วงแห่งกรุงสุโขทัยร่วมกับพระเจ้าสิริธรรมแห่งสิริธรรมนครส่งทูตไปขอพระพุทธสิหิงค์จากลังกา ส่วนในตำนานเมืองพัทลุงกล่าวถึงนางเลือดขาวอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากลังกา และสร้างวัดพระศรีสรรเพชญพุทธสิหิงค์ไว้ที่ตรังเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปนั้น และในหลักศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ที่กล่าวว่า "สังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา" แสดงว่ามีการติดต่อระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชกับอินเดียและลังกา ซึ่งผ่านท่าเรือเมืองตรัง

5. สมัยอยุธยา

เมืองตรังเป็นประตูแรกรับฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาในไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๐๕๔ โปรตุเกสตีมะละกาได้ จึงส่งทูตไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อทำสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โดยผ่านท่าเรือเมืองตรัง เข้าใจว่าสมัยนั้นที่ตั้งเมืองอยู่ตรงบริเวณริมแม่น้ำตรังแถบอำเภอห้วยยอด

ต่อมามีประกาศกัลปนาวัดใน พ.ศ. ๒๑๕๒ – ๒๑๕๓ กล่าวว่า วัดพระพุทธสิหิงค์และวัดพระงามที่ตรัง ขึ้นกับวัดสทังและวัดเขียนบางแก้ว เมืองพัทลุง ทั้งมีหลักฐานความเป็นเมืองปรากฏชัดเจนที่ถ้ำเขาสามบาตร หรือเขาสะบาป ตรงเพดานปากถ้ำมีอักษรเขียนสีสมัยอยุธยา ความตอนหนึ่งกล่าวว่า "…ขุนนางกรมการทัง…เมืองแลสัปรุศชายญ.ให้เลิกสาศนาพระพุท่เจากํบริบูนแล้วแลสัปรุศ…..ชวนกันฉลองกุสลบุญ…หาสุ่กกรุราชได้สองพันร้อยหาสิบเจดปีเจดวันนันแล.." ข้อความนี้แสดงว่าใน พ.ศ. ๒๑๕๗ ตรังมีชุมชนใหญ่ระดับเมืองอยู่แล้วที่เขาสามบาตร เพราะมีทั้งขุนนางและกรมการเมือง ทั้งยังมีคำบอกเล่าและการสำรวจพบร่องรอยคูเมืองและวัดคูเมืองที่อยู่ใกล้ ๆ กัน พ.ศ. ๒๑๘๕ เอกสารฮอลันดากล่าวถึงเจ้าเมืองตรังได้ชักชวนชาวฮอลันดาที่เมืองถลางให้ย้ายโรงงานมาตั้งที่ตรัง ซึ่งสามารถส่งออกดีบุกและข้าวได้มาก แสดงถึงความมีตัวตนชัดเจนของเจ้าเมืองตรัง สถานะของตรังในช่วงนั้นยังขึ้นตรงต่อนครศรีธรรมราชจนสิ้นสุดกรุงศรีอยุธยา

6. สมัยกรุงธนบุรี

ตรังเป็นเมืองท่าฝั่งทะเลตะวันตกของนครศรีธรรมราช คู่กับเมืองท่าทองทางฝั่งทะเลตะวันออก

7. สมัยต้นรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๑ พระยาตรังที่เป็นกวี ทำความผิดต้องโทษถูกเรียกตัวเข้ารับราชการในกรุงเทพฯ พระภักดีบริรักษ์ได้เป็นเจ้าเมือง ในช่วงนั้นเมืองตรังแยกเป็น ๒ เมือง ตามฝั่งแม่น้ำตรัง ฝั่งตะวันตกชื่อเมืองตรัง อยู่ที่บ้านควน ตำบลนาวง อำเภอห้วยยอด ฝั่งตะวันออกชื่อเมืองภูรา อยู่ที่บ้านนาทองหลาง ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองตรัง พระภักดีบริรักษ์ ซึ่งพบว่าอยู่ในตำแหน่งราว ๆ พ.ศ. ๒๓๓๐ เป็นต้นมา ได้ขอรวมเมืองทั้งสองเป็นเมืองตรังภูรา

สิ้นสมัยพระภักดีบริรักษ์ ประมาณก่อน พ.ศ. ๒๓๔๗ โต๊ะปังกะหวา หรือพระเพชภักดีศรีสมุทรสงคราม ปลัดเมืองซึ่งประจำอยู่ที่เกาะลิบงได้เป็นเจ้าเมือง ศูนย์อำนาจของเมืองตรังจึงอยู่ที่เกาะลิบง เมื่อสิ้นโต๊ะปังกะหวา หลวงฤทธิสงครามบุตรเขยได้สืบทอดตำแหน่ง ในช่วงนี้มีเหตุการณ์สำคัญคือ พม่ายกมาตีเมืองถลางใน พ.ศ. ๒๓๕๒ เกาะลิบงเป็นที่ชุมนุมทัพเรือของหัวเมืองทางใต้เพื่อยกไปช่วยถลางรบพม่า

ต่อมา พ.ศ. ๒๓๕๔ รัชกาลที่ ๒ หลวงอุไทยราชธานี (บางแห่งว่า อุไภย) เป็นผู้พยาบาลเมืองตรัง สถานที่ตั้งเมืองอยู่ที่ควนธานี ในระยะนี้เองที่เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ปรับปรุงเมืองตรังให้เป็นฐานทัพเรือที่เข้มแข็งเพื่อรับศึกพม่า คุมหัวเมืองมลายูและปราบปรามโจรสลัด เมืองตรังช่วงนี้เจริญมาก เป็นทั้งที่ต่อเรือและส่งสินค้าไปต่างประเทศ สินค้าสำคัญคือ ช้าง ดีบุก เมืองตรังจึงเป็นทั้งท่าเรือค้าและท่าเรือรบ การเจรจาความเมืองสำคัญก็เกิดขึ้นที่ตรัง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ ผู้สำเร็จราชการของอังกฤษซึ่งประจำอยู่ที่เกาะปีนังได้ส่งร้อยโท เจมส์ โลว์ มาเจรจากับเจ้าพระยานครฯ (น้อย) แต่การเจรจาไม่สำเร็จ อังกฤษจึงได้ส่งร้อยเอกเฮนรี่ เบอร์นี ซึ่งสามารถเข้าไปถึงกรุงเทพฯ และทำสัญญาได้ คือสัญญาเบอร์นีย์ ซึ่งต้องกลับมาแลกเปลี่ยนหนังสือสัญญาที่ตรังเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙

พ.ศ. ๒๓๘๑ รัชกาลที่ ๓ เกิดกบฎทางไทรบุรี หวันหมาดหลีแขกสลัดจากเกาะยาวเป็นพวกเดียวกับกบฎเข้าตีเมืองตรัง พระสงครามวิชิต(ม่วง) เจ้าเมืองตรังต้านทานไม่ได้ ถอยไปแจ้งข่าวแก่เมืองนคร พวกข้าศึกเข้าตีเมืองพัทลุงและสงขลาต่อ ทางไทยได้ส่งทัพมาต้านไว้จนข้าศึกหนีกลับไป ต่อมาเจ้าเมืองคนใหม่ไปตั้งที่ว่าราชการอยู่ที่บ้านนาแขก ตำบลหนองตรุด อำเภอเมืองตรัง ปัจจุบันยังมีลูกหลานสืบทอดเชื้อสายอยู่ ณ ที่ตั้งบ้านนั้น แต่ที่ตั้งเมืองยังอยู่ที่ควนธานี จนถึงรัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๙๖ พระยาตรังนาแขกถึงแก่กรรม เจ้าเมืองตรังคนใหม่ชื่อพระตรังควิษยานุรักษ์พิทักษ์รัฐสีมา

8. สมัยการปกครองหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันตกจนถึงปัจจุบัน

ต้นรัชกาลที่ ๕ พวกกรรมกรจีนก่อความไม่สงบในหัวเมืองฝั่งตะวันตกอยู่เนือง ๆ จึงมีการแต่งตั้งข้าหลวงใหญ่จากกรุงเทพฯ มาประจำที่ภูเก็ตเพื่อดูแลหัวเมืองฝั่งตะวันตกทั้งหมด ข้าหลวงใหญ่มาตั้งศูนย์บัญชาการที่เมืองตรังอยู่ระยะหนึ่งแล้วกลับภูเก็ต

เมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งของตรังได้แก่ปะเหลียน เป็นเมืองที่ขึ้นกับพัทลุงมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ ถูกยุบเป็นอำเภอหนึ่งของเมืองตรัง

เมืองตรังตั้งอยู่ที่ควนธานีจนถึงสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เป็นผู้ว่าราชการเมือง พระยารัษฎาฯ ได้ย้ายที่ตั้งเมืองไปกันตังใน พ.ศ. ๒๔๓๖ และพัฒนากันตังให้เป็นเมืองท่าสำคัญที่ติดต่อกับต่างประเทศ ส่งเสริมการเกษตรเพื่อส่งออกโดยเฉพาะการนำยางพาราเข้ามาปลูกจนเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ

ต่อมาเมื่อทางส่วนกลางเริ่มจัดการปกครองระบบมณฑล ตรังถูกจัดให้เป็นเมืองหนึ่งในมณฑลภูเก็ต ที่ตั้งเมืองอยู่ที่กันตังจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้มีการย้ายที่ตั้งเมืองมาตั้งที่ตำบลทับเที่ยง ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ตรงกับสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (สิน เทพหัสดินฯ) เป็นผู้ว่าราชการเมือง

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ รัฐบาลยุบเลิกระบบมณฑล ตรังจึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยแต่นั้นมา

ที่มาของคำว่า "ตรัง"

คำว่า "ตรัง" มีความหมายสันนิษฐานได้ ๒ ทาง คือ
                   ๑. มาจากคำภาษามลายูว่า Terang แปลว่า สว่าง หรือแจ่มแจ้ง จึงตีความว่า เมืองตรังเป็นเมืองแห่งรุ่งอรุณ
                   ๒. มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า ตรงฺค หรือ ตรังคะ แยกศัพท์เป็น ตร + องฺค แปลตรงตามคำ ตร จาก ตร ธาตุ ว่า ข้าม เดิน หรือเคลื่อนที่ไป องฺค แปลว่า อวัยวะ แปลรวมว่า อวัยวะที่เคลื่อนที่ไปได้ในทะเล กล่าวคือ คลื่นหรือระลอก จึงตีความว่า เมืองตรังเป็นเมืองแห่งคลื่น ซึ่งหมายถึงคลื่นลมในทะเลหน้าเมืองตรัง

 

ที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดตรัง ตั้งอยู่ภาคใต้ของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ 828 กม. มีพื้นที่ประมาณ 4,917.519 ตร.กม. หรือประมาณ 3,088,399.375 ไร่

  1. ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่
  2. ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล และทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย
  3. ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอควนขนุน อำเภอกงหรา และอำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง
  4. ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอคลองท่อม เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย

 

ตราสัญลักษณ์

กรมศิลปากรออกแบบเป็นภาพสะพานท่าเรือ มีระลอกคลื่น ภูเขา และต้นไม้ พร้อมทั้งอธิบายความหมายไว้ดังนี้
สะพานท่าเรือมีเสาโคมไฟ การเป็นเมืองท่าติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมาแต่โบราณ
ทะเลมีคลื่น มาจากคำว่า ตรังค์ ซึ่งแปลว่า คลื่น
ภูเขา หมายถึง ลักษณะของพื้นที่จังหวัดตรังซึ่งเป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ สลับกับภูเขา
ต้นไม้ หมายถึง ต้นยางพารา ซึ่งพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ได้นำมาปลูกในจังหวัดตรังเป็นแห่งแรก

 

คำขวัญจังหวัดตรัง

"ชาวตรังใจกว้าง สร้างแต่ความดี"

คำขวัญท่องเที่ยวจังหวัดตรัง

เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา
เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา

แผนที่จังหวัดตรัง

 

 


Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar
จำนวนการเข้าชม : 44,194