สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง
เลขที่ 28 ถนนวิเศษกุล ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง 92000
โทรศัพท์ : 075-211-488 Email : tg_ops@moc.go.th
หวั่นปัญหาหนอนเจาะทุเรียนภาคใต้แสนตัน กรมวิชาการเกษตรออกมาตรการคัดกรอง 4 ขั้นตอน ด่านศุลกากรจีน GACC ออกโรงเตือนไทยให้เฝ้าระวังปัญหา หลังพบด่านหนองคายตีกลับทุเรียนหนอนเจาะ 5 ตู้คอนเทนเนอร์ ก่อนส่งออกไปจีน ชาวสวนใต้หวั่นมาตรการเข้มทำน้ำหนักลด-ราคาตก
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้แจ้งเตือนมาให้เฝ้าระวังปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนอย่างเข้มข้น ดังนั้นทางด่านศุลกากรชายแดนไทยจังหวัดต่าง ๆ ที่ส่งออกทุเรียน โดยเฉพาะด่านเชียงแสน ด่านเชียงของ ด่านนครพนม ด่านมุกดาหาร ด่านหนองคาย ด่านลาดกระบัง ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2567 ด่านศุลกากรหนองคายตรวจพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน จำนวน 5 ตู้คอนเทนเนอร์ ก่อนที่จะส่งออกไปประเทศจีน ซึ่งทุเรียนดังกล่าวเป็นของผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ (ล้ง) มาจาก จ.อุตรดิตถ์ จึงได้ส่งกลับไปให้แก้ไข และให้ยื่นคำขอใบรับรองสุขอนามัยพืชใหม่ “ปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนพบมากในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งตอนนี้กำลังเข้าสู่ฤดูกาลทุเรียนภาคใต้กำลังออก ศุลกากรจีนจึงเตือนมา” แหล่งข่าวกล่าวและว่า
ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรจึงออกมาตรการในการคัดกรองอย่างเข้มงวดถึง 4 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ให้เจ้าของสวนตัดผลทุเรียนแก่บ่มไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อนำผลผลิตที่มีคุณภาพสมบูรณ์ส่งขายโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ขั้นที่ 2 โรงคัดบรรจุ (ล้ง) ต้องบ่มแยกกองตามแหล่งที่มา 48 ชั่วโมง และกำจัดหนอน พร้อมให้มีผู้รับผิดชอบประจำโรงคัดบรรจุ สุ่มตรวจทุเรียนเพื่อหาศัตรูพืชโดยละเอียด
ขั้นที่ 3 เพิ่มเปอร์เซ็นต์การสุ่มตรวจ เพื่อประกอบการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช ณ โรงคัดบรรจุ จากเดิม 3% เพิ่มเป็น 5% โดยสุ่มตรวจให้ถึงหน้าตู้ และขั้นที่ 4 เพิ่มขั้นตอนการสุ่มตรวจและกำหนดแนวทางการออกใบรับรองสุขอนามัย ณ ด่านตรวจพืชปลายทาง เปิดตู้ทุเรียนสดส่งออกทุกชิปเมนต์ทุกตู้ ถ้าพบความเสี่ยงระดับต่ำ ให้สุ่มเพิ่มขึ้น 3% หากพบการปนเปื้อนส่งกลับโรงคัดบรรจุเดิมแก้ไข
นายดำรงศักดิ์ สินศักดิ์ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จ.ชุมพร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนพบมากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งมีปริมาณผลผลิตประมาณ 100,000 ตัน
ทั้งนี้ มาตรการคัดกรอง 4 ชั้นอาจจะมีผลกระทบต่อน้ำหนักที่หายไป เพราะโรงคัดบรรจุต้องบ่มทุเรียนไว้ 2-3 วัน น้ำหนักทุเรียนจะหายไป เฉลี่ย 100 กก.ต่อ 1,000 กก. ระยะเวลา 2 คืน คิดเป็นมูลค่า 10,000-20,000 บาท ทำให้ล้งที่ซื้อทุเรียนกดราคารับซื้อลงมาต่ำกว่าราคาทุเรียนที่แถบจังหวัดชุมพร ถ้า จ.ชุมพร ราคาประมาณ 160-170 บาท/กก. ทุเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเหลือประมาณ 130-140 บาท/กก.... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/local-economy/news-1601525
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ