ประชาชาติธุรกิจ 20 พ.ค. 2565 อ่าน [4]
ภายหลังคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร พร้อมหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนเกษตรกร และผู้ส่งออก ไปเดินทางไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เพื่อหารือแนวทางการบริหารจัดการป้องกันปัญหาราคาทุเรียนและผลไม้ตกต่ำ
นายอันวาร์ สาและ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้รับฟังปัญหาจากทุกภาคส่วนเรื่องภาพรวมของตลาดผลไม้ในภาคตะวันออกที่จะส่งออกไปประเทศจีน สรุปว่าราคาทุเรียนยังพอไปได้ แต่มังคุดกลับมีราคาตกต่ำ ผลจากจีนมีนโยบายคุมเข้มตามมาตรการ Zero-COVID ซึ่งรัฐบาลไทยต้องช่วยเจรจาให้ผ่อนคลายมาตรการ พร้อมหาตลาดใหม่เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและรายได้
นอกจากนี้ยังได้หารือเรื่องแรงงาน การขนส่งโลจิสติกส์ ซึ่งทางกรรมาธิการจะรวบรวมข้อมูลสรุปประเด็นเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสัปดาห์หน้า และใช้เวลาติดตามภายใน 1-2 สัปดาห์ ขณะเดียวกันตลาดภายในประเทศเริ่มมีปัญหา โดยชาวสวนระบุว่า ได้ทำผลผลิตให้มีคุณภาพแล้ว แต่ไม่สามารถจำหน่ายในราคาที่สูงได้
นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) เปิดเผย ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ภาคตะวันออกมีผลผลิตทุเรียน 7.2 แสนตัน ส่งออกแล้ว 2 แสนตัน คาดว่าในเดือนพฤษภาคมนี้จะส่งออกมากถึง 3 แสนตัน ทั้งนี้ การส่งออกตลาดจีนถือเป็นตลาดหลักที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่าตลาดอื่น เพราะถ้าขายจีนไม่ได้จะส่งผลย้อนกลับทำให้ราคายิ่งตกต่ำ ซึ่งปีนี้จีนเข้มงวดเรื่องมาตรการโควิด-19 ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2565 ถึงปัจจุบัน จีนตรวจพบทุเรียนไทยปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 และกรมวิชาการเกษตรได้สั่งระงับการส่งออกไปแล้วรวม 13 ล้ง จากจำนวนล้งทุเรียนในจังหวัดจันทบุรีทั้งหมด 300 แห่ง
ขณะที่ตลาดมังคุดคาดว่าจะมีผลผลิตรวม 2 แสนตัน ล่าสุดส่งออกไปแล้ว 5 พันตัน สถานการณ์มังคุดปีนี้ค่อนข้างผันผวนและมีความเสี่ยงมากกว่าทุเรียน โดยมีล้งมังคุด 200 แห่ง ล้งที่ทำทั้งทุเรียนและมังคุดอีก 200 แห่ง แต่ล้งมังคุดเปิดรับซื้ออยู่เพียง 50-60 ล้งเท่านั้น
นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เจ้าของล้งดราก้อน เฟรช ฟรุท จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะการตลาดในช่วงนี้ไม่มีความแน่นอน แม้การส่งออกทางเรือไปจีนเริ่มผ่อนปรนมาตรการตรวจโควิด-19 ให้พอสมควร ทำให้นำเข้าสินค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะด่านบ่อหานและด่านเรือกวางเจา
แต่ความไม่แน่นอนขณะนี้คือ มีสินค้าจำนวนมากที่รอตรวจ ทำให้รถติดอยู่ที่หน้าด่านทั้งทางบกและทางเรือ ซึ่งต้องใช้เวลา 5 -10 วัน ถ้าหากสินค้าไม่โดนสุ่มตรวจจะใช้ระยะเวลา 12 วัน แต่ถ้าโดนสุ่มตรวจ 30 % ต้องใช้เวลา 15-18 วัน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่ทุเรียนมูลค่าสูงหลายล้านบาทที่อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกจะเริ่มเน่า แตก และเสียหาย ทำให้ผู้ส่งออกบางรายไม่กล้าเสี่ยง เพราะสินค้าบางล็อตราคาค่อนข้างสูง
ขณะเดียวกันกำลังมีปัญหาไม่สามารถขนส่งทุเรียนผ่านประเทศเวียดนามเข้าไปที่ด่านสถานีรถไฟผิงเสียงของจีนได้ เพราะใบอนุญาตตรวจพืชที่ใช้ผ่านแดนของเวียดนาม มีสัญญาปีต่อปีจะหมดอายุภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 และยังไม่ได้มีการต่อให้ ตอนนี้ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้ทำหนังสือไปแล้ว แต่ยังไม่ทราบผลเจรจาจะเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ ด่านสถานีรถไฟผิงเสียงของจีน ถือเป็นด่านหลักของการส่งออกจากไทยอีกด่านหนึ่ง สำหรับการขนส่งผลไม้ที่ต้องผ่านเวียดนามไปจีนมีหลายด่าน ซึ่งใบอนุญาตจะยังไม่หมดอายุ แต่ผู้ส่งออกไม่มีใครอยากไปเพราะจราจรติดขัด